แม้จะคลุกคลีกับงานศิลปะและการออกแบบมาตั้งแต่เด็ก บอย – ชาญเกียรติ มหันตคุณ กลับมิได้คิดเดินบนหนทางนี้มาตั้งแต่ต้น จากการเติบโตมาในครอบครัวนักธุรกิจทำให้เขาเลือกทางเรียนไปในสาขาการบริหาร ก่อนที่จะค้นใจตัวเองจนพบว่าเขาหลงใหลในงานศิลปะมากเพียงใด แล้วจึงเริ่มต้นหันมาทำงานในฐานะนักออกแบบเครื่องประดับ โดยมี “พราวลาย” คอลเลคชั่นใหม่ของ บี บิจูซ์ (Bee Bijoux) เปฌรคอลเลคชั่นแรกที่พิสูจน์ฝีมือของเขา
“ยอมรับว่าได้รับอิทธิพลจากคุณแม่ (สุวลักษณ์ มหันตคุณ) มาก ลายเส้นจะคล้ายกัน แต่ว่างานเป็นคนละแนว ไม่วิจิตรเท่าคุณแม่ แนวทางของผมจะออกมามีความร่วมสมัย มีความเรียบค่อนข้างมากกว่า แต่ยังคงความหวานซ่อนเปรี้ยวและแอบเท่นิดๆด้วย”
เดิมทีคุณบอยเลือกเรียนระดับปริญญาตรีทางด้านการบริหารธุรกิจ แล้วก็ตัดสินใจโอนหน่วยกิตไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาในสาขา Computer Information Science ที่ Southern Oregon University แล้วจึงเรียนต่อระดับปริญญาโทในสาขา Multimedia Design ที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน
“จริงๆผมไม่ชอบด้านค้าขายเลย แต่เพราะโตมาในครอบครัวนักธุรกิจเลยถูกปลูกฝังให้ไปด้านนั้น แต่จริงๆ เป็นคนชอบสร้างงานมากกว่า กว่าจะเลี้ยวเข้ามาทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ ก็ใช้เวลาไปเรียนด้านอื่นมากมาย ดีที่ยังกลับมาทัน แม้จะช้าไปนิดก็ตาม (หัวเราะ)”
ระหว่างเรียนปริญญาตรี คุณบอยใช้เวลานอกห้องเรียนทำตามความฝันในด้านการแสดง เขาตามค่านิยมแบบคนอเมริกันที่ต้องเดินตามฝันให้สำเร็จในแบบ “American Dream” เข้าไปคัดเลือกตัวจนติดคณะละครแห่งหนึ่งในเมืองและได้ฝึกฝนจนได้ทุนเรียนการเต้นและเป็นสมาชิกของคณะ
หลังจากเรียนจบ คุณบอยกลับมาทำงานทางด้านกราฟฟิคดีไซน์ที่บริษัทผลิตโฆษณา มีชื่อว่า Workshop and Studio อยู่หนึ่งปี ก่อนหันกลับมาเดินตามรอยเท้าคุณแม่ ด้วยการดูแลธุรกิจเครื่องประดับ บี บีจูซ์
“ช่วงแรกเริ่มทำงานที่เราถนัดก่อน เช่นอาร์ตไดเร็คชั่น การทำกราฟฟิค ดูสื่อมัลติมีเดีย แคตตาล็อก ออกแบบเครื่องประดับบ้างเป็นครั้งคราว ประมาณสองเดือนได้แหวนมาวงนึง (หัวเราะ) จนมาเจอเทคนิคการถมทองที่เราคิดว่าน่าสนใจและสามารถถ่ายทอดออกมาได้หลายรูปแบบ เลยออกมาเป็นคอลเลคชั่นนี้”
การถมทองเป็นเทคนิคที่มีประวัติยาวนานเป็นงาน หัตถศิลป์ชั้นสูงของไทยที่มีความเป็นมายาวนานกว่า ๕๐๐ ปี แต่เดิมเป็นของสูงเพราะเป็นเครื่องราชูปโภคของพระมหากษัตริย์ และเป็นเครื่องยศของขุนนางชั้นสูง
“เป็นเทคนิคที่ผมตื่นตาตื่นใจมากครับ แม้จะเป็นภูมิปัญญาโบราณแต่ยังคงมีเสน่ห์และมีความคงทนมาก เสน่ห์ของ เครื่องถมทองอยู่ที่ลวดลายสีทองที่อ่อนช้อยตัดกับเนื้อถมที่มีสีดำแวววาว ซึ่งมีกรรมวิธีในการผลิตที่อาศัยความละเอียดอ่อน ช่างฝีมือผู้ผลิตต้องมีความชํานาญระดับครูจึงสามารถจับเครื่องมือแต่ละชนิดมาสร้างสรรค์เป็นลวดลายบนเครื่องถมได้
…ผมชอบเครื่องประดับและงานหัตถกรรมโบราณ เพราะเป็นงานที่ทำด้วยมือ นับวันเราจะเห็นน้อยลง คนรุ่นหลังก็ไม่ค่อยมีคนทำ ยิ่งผมไปเรียนเมืองนอกมายิ่งเห็นความสำคัญของงานพวกนี้ เลยอยากออกแบบเครื่องประดับโดยใช้เทคนิคนี้ ให้กับผู้หญิงสมัยนี้ได้ใส่กัน
…นอกจากการถมทองแล้ว ยังใช้อัญมณีต่างๆมา เสริมเพื่อสร้างบุคลิก แตกต่างกัน อย่างนําเพชรมาประดับให้ดูระยิบระยับ ใช้นิลให้ดูเคร่งขรึม หรือมุกให้ดูหวานขึ้น แต่ละชิ้นมีลูกเล่นของตัวเอง”
แม้จะเบนเข็มมาทางการออกแบบเครื่องประดับเต็มตัวขึ้น หากแต่เขาเองก็ยังไม่ทิ้งสิ่งที่เรียนรู้มา และยังนําทักษะเหล่านั้นมาพัฒนาธุรกิจอีกด้วย
“แม้จะสนใจเรื่องการออกแบบเป็นหลัก แต่ก็นําความ รูด้านการออกแบบมใช้ เช่น การจัดอีเวนท์ ผมออกแบบเอง ทุกอย่าง ดูบล็อคกิ้ง การจัดฉาก จัดแสง คุมทิศทางของงาน ไม่ให้สิ่งที่เรียนมาเสียเปล่า เอามาใช้เรื่อยๆ
…แต่ผมก็ยอมรับว่าตอนนี้สนุกกับการออกแบบเครื่องประดับมากที่สุด ยังมีแบบอีกมากมายอยู่ในหัวสำหรับ คอลเลคชั่นนี้ และหวังว่าจะได้สืบทอดเทคนิคการถมทองอันทรงคุณค่าของไทยให้อยู่ต่อไปด้วยครับ”
เรื่อง : ไซเฟอร์
ภาพ : ศิริพล ลีราภิรมย์
นิตยสารดิฉัน